ประวัติ
รายละเอียด
สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ชื่อย่อ: สทท.; อังกฤษ: National Broadcasting Services of Thailand ชื่อย่อ: เอ็นบีที., NBT.) เป็นหน่วยงานสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐบาล มีสภาพเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติของประเทศไทย สังกัดกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแล เดิมคือ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ (ชื่อย่อ: สทท.11, ช่อง 11; อังกฤษ: Television of Thailand Channel 11 ชื่อย่อ: TVT.11) ซึ่งมีสถานะเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติเช่นเดียวกัน โดยมีการเปลี่ยนชื่อ พร้อมปรับปรุงระบบการบริหารงาน และรูปแบบของสถานี เพื่อให้สมเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถานี ตั้งแต่วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551 เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป และเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2552 สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ได้เปลี่ยนอัตลักษณ์ใหม่ของสถานี และในวันดังกล่าวคือวันครบรอบการใช้ชื่อ NBT 1 ปี
ประวัติ
วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2528 คณะรัฐมนตรี มีมติให้ กรมประชาสัมพันธ์ จัดทำ โครงการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของทางราชการสู่ประชาชน และเพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมไปถึง การเสริมสร้างความเข้าใจอันดี ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ตลอดจนเป็นสถานีโทรทัศน์แม่ข่ายให้แก่ สถานีโทรทัศน์ส่วนภูมิภาค ในเครือข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ
ประมาณต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2528 สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เริ่มต้นการทดลองออกอากาศเป็นครั้งแรก แต่ระยะแรกนั้น สทท.11 ได้ใช้เครื่องส่งโทรทัศน์สีของกรมประชาสัมพันธ์ ที่ออกอากาศด้วยระบบวีเฮชเอฟ(VHF) ทางช่องสัญญาณที่ 11 มาจากสถานีเครื่องส่งโทรทัศน์ ณ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ มาออกอากาศเป็นการชั่วคราว ณ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แต่เนื่องจากความถี่ต่ำ จึงไม่สามารถดำเนินการส่งสัญญาณแพร่ภาพออกอากาศต่อได้ ทว่าต่อมา สทท.11 ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น และมูลนิธิไจก้า ตามโครงการช่วยเหลือแบบให้เปล่า โดยมีวงเงินประมาณ 330,000,000 บาท เพื่อขออนุญาตใช้เครื่องส่งใหม่ โดยออกอากาศระบบวีเอชเอฟ(VHF)ความถี่สูง ทางช่องสัญญาณที่ 11(BAND3,VHF CH-11) และสร้างอาคารที่ทำการสถานีฯ ในที่ดินของกรมประชาสัมพันธ์ ริมถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพมหานคร
วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดอาคารที่ทำการ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย อย่างเป็นทางการ จากนั้นเป็นต้นมา จึงกำหนดให้ วันที่ 11 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนา สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์
สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะที่เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ได้ดำเนินการเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางราชการ และนำเสนอรายการที่เป็นสาระความรู้โดยเฉพาะด้านการศึกษา, ศิลปวัฒนธรรม และประเพณี มาโดยตลอด ซึ่งรูปแบบการดำเนินงานนั้น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ส่วนกลางที่กรุงเทพมหานคร จะดำเนินการถ่ายทอดรายการส่วนใหญ่ และบางช่วงเวลา จะให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ในส่วนภูมิภาคดำเนินการถ่ายทอดรายการของตนเฉพาะท้องถิ่นไป แล้วแต่ช่วงเวลานั้นๆ อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงระยะเวลาแรกๆ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 มักถูกมองข้ามจากผู้ชมส่วนใหญ่ เนื่องด้วยความเป็นสถานีโทรทัศน์ของทางรัฐบาลซึ่งไม่มีรายการที่สามารถดึง ดูดผู้ชมได้ โดยเฉพาะรายการประเภทบันเทิง เช่น ละครโทรทัศน์ หรือรายการเกมโชว์ และประกอบกับเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ไม่อาจมีโฆษณาได้ จึงทำให้ประเภทของรายการที่ออกอากาศทางสทท. 11 นั้น มีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้ผู้ชมนั้นมีไม่จำนวนไม่มากนัก
อย่างไรก็ดี ในปีพ.ศ. 2539 สทท.11 ได้เสนอให้หน่วยงานภาคต่างๆ สามารถแพร่ภาพโฆษณาให้กับทางสถานีได้ และในบางครั้ง สทท.11 ก็ได้ผลิตโฆษณาออกอากาศภายในสถานีเอง แม้จะเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ จนกระทั่งในช่วงนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545 เป็นต้นมา สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เริ่มมีชื่อเสียงทางด้านการถ่ายทอดสดรายการกีฬา ซึ่งแต่เดิม สทท. 11 เป็นที่รู้จักกันดีจากการเริ่มนำเอากีฬามวยปล้ำอาชีพมาออกอากาศทางสถานี แต่ทว่า นับตั้งแต่ที่สทท.11 เป็นหนึ่งในผู้ร่วมถ่ายทอดสด การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ปี 2002 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวีและไอทีวี ภายใต้การดำเนินการของบริษัท ทศภาค จำกัด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ฮือฮามากในขณะนั้น ที่การถ่ายทอดสดกีฬาต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีวีพูล ตามที่เป็นปกติในวงการโทรทัศน์ก่อนหน้านั้น ซึ่งถ่ายทอดสดรายการกีฬาต่างๆ ร่วมกันทางทีวีพูล โดยมีโฆษณาคั่น แต่เมื่อสทท. 11 ได้ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2002 ร่วมกับโมเดิร์นไนน์ทีวี และไอทีวี โดยไม่มีโฆษณาคั่น แต่นั้น สทท. 11 ก็ได้ถ่ายทอดสดรายการกีฬาอีกหลายรายการจนเป็นที่ติดตามของผู้ชมกีฬาในประเทศ เป็นอย่างมากรายละเอียดของตราสัญลักษณ์เอ็นบีที (2551)
ในปีพ.ศ. 2551 เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เข้ามาบริหารงาน นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำ สำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในฐานะที่กำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ ได้มีแนวความคิดที่จะเปลี่ยนแปลง สทท.11 เดิม เพื่อเป็นการปรับปรุงระบบการบริหารงาน และตอบสนองเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถานี ดังนั้น ในวันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551 ตั้งแต่เวลา 06.00 น. สทท.11 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (National Broadcasting Services of Thailand - NBT) ซึ่งเป็นการใช้ชื่อที่จดทะเบียนสมาชิกกับสหภาพวิทยุ-โทรทัศน์แห่งเอเชีย-แปซิฟิก(Asia-Pacific Broadcasting Union) และเปลี่ยนสีประจำสถานีเป็นสีแดงและ ได้ออกอากาศรายการในรูปแบบใหม่ เพื่อให้สมประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถานี และเพื่อประโยชน์สาธารณะ สำหรับการเสนอข่าวสารของเอ็นบีที จะมีความแตกต่างจาก สทท.11 คือ เอ็นบีที จะทำการเสนอข่าวในนามของทีมข่าวของสถานีเอง ซึ่งแยกออกจากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ (ปัจจุบัน คือ สำนักข่าวแห่งชาติ) แต่ในการเสนอข่าวในยุค สทท.11 นั้น จะดำเนินการเสนอข่าวขึ้นตรงกับสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ โดยส่วนใหญ่
ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ได้นำอดีตผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีหลายคน ที่ไม่ได้เข้าร่วมงานกับสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยมาร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็น ตวงพร อัศววิไล, จอม เพชรประดับ, จิรายุ ห่วงทรัพย์ , ปนัดดา วงศ์ผู้ดี, สร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์ เป็นต้น ซึ่งทางเอ็นบีทีได้นำเสนอภาพลักษณ์ความเป็นสถานีข่าว ผ่านทางการให้เวลานำเสนอข่าวมากกว่า 13 ชั่วโมง และปรับรูปลักษณ์ของสถานีเพื่อให้มีความทันสมัยมากกว่าเดิม ซึ่งในช่วงแรก เอ็นบีทีถูกจับตาอย่างยิ่งจากหลายฝ่าย จากการที่ประกาศตัวเป็นคู่แข่งกับสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย หรือไทยพีบีเอส ในลักษณะของ "สงครามสื่อโทรทัศน์ภาครัฐ" เนื่องจากเอ็นบีทีพยายามนำเสนอความเป็นทีวีสาธารณะของภาครัฐบาล ขึ้นรับมือกับไทยพีบีเอส ที่ประกาศตัวเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยไปก่อนหน้า และนอกจากนี้ เอ็นบีทียังถูกจับตามองอย่างยิ่ง ในแง่มุมของการเสนอข่าว ซึ่งมีบางฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า เอ็นบีทีนำเสนอข่าวในลักษณะเข้าข้างรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์เป็นพิเศษ
เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล จากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 เป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีนโยบายปฏิรูปสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT โดยจัดประกวดตราสัญลักษณ์ใหม่ ซึ่งกำหนดแนวคิดตราสัญลักษณ์ให้สื่อถึงความเป็นโทรทัศน์แห่งชาติ มีความทันสมัย ผสมผสานกับความเป็นไทย และตราสัญลักษณ์ใหม่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปี การใช้ชื่อเอ็นบีที โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เปิดตราสัญลักษณ์ใหม่ และเปิดตัวสถานีในฐานะสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ และมีการเลิกสัญญาบริษัทผลิตข่าวซึ่งเดิมเป็นของ บริษัทดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง จำกัด ไปตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งมีข่าวว่าเป็นของนายเนวิน ชิดชอบ อดีตนักการเมือง
ช่องทางการรับชม
- ดาวเทียมไทยคม 2 (thaicom 2) C-BAND (ฟรีทีวี) ความถี่ 4106 H SR- 4688
- ดาวเทียมไทยคม 5 (thaicom 5) KU-BAND (เข้ารหัส) ความถี่ 12313 H SR-30000 และ True vision ความถี่ 12438 H SR-30000
- เคเบิลทีวีท้องถิ่นทั่วประเทศ
ที่มา วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะค่ะ ต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับ ช่อง 11 ทำรายงานกลุ่มพอดี ขอเอาข้อมูลไปใช้นะค่ะ ^^
ตอบลบ